ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ประเทศไทยเริ่มมีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อคนแรก คือ อาจารย์ชวลิต ปรียาสมบัติ ซึ่งอาจารย์จบการฝึกอบรมจาก Children’s Hospital of Pittsburgh โดยอาจารย์เป็น endocrine fellow คนแรกของ Dr. Frederic M. Kenny (ผู้ described Kenny-Caffey syndrome) อาจารย์ชวลิตเริ่มปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมาท่านได้ขอย้ายมาเป็นผู้บุกเบิกให้กับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และหลังจากนั้น เริ่มมีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อในโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น ได้แก่
อาจารย์ชนิกา ตู้จินดา (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
อาจารย์กิตติ อังศุสิงห์ (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
อาจารย์เหลือพร ปุณณกันต์ (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
อาจารย์มานะศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
อาจารย์สุมาลี ศรีวัฒนา (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
อาจารย์สัญชัย เชื้อสีห์แก้ว (โรงพยาบาลเด็ก)
ในขณะนั้น กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อมีน้อยมาก ทำให้การดูแลผู้ป่วยต่อมไร้ท่อเด็กยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในโรงพยาบาลที่ไม่มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ก็ต้องอาศัยกุมารแพทย์สาขาอื่นๆ ช่วยดูแลผู้ป่วย แม้แต่ในโรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านฮอร์โมนยังทำได้น้อย ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง การวินิจฉัยส่วนใหญ่ต้องอาศัยประสบการณ์ของอาจารย์กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อที่เคยดูแลผู้ป่วยมาก่อน รวมทั้งใช้ therapeutic diagnosis ซึ่งเป็นความสามารถของอาจารย์ในยุคต้นๆ ทั้งหลายท่านที่กล่าวมา
เมื่อมีหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ การฝึกอบรมเป็นระบบ ต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้มีกุมารแพทย์ทั่วไป รวมทั้งกุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาวิชาต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรที่ดีขึ้น มีโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อเพิ่มขึ้น ประชาชนให้ความสนใจกับการเติบโตและการเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อจึงมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น ตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ จึงมีอาจารย์แพทย์เข้ารับการฝึกอบรมสาขาวิชาต่อมไร้ท่อ ทำให้มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
อาจารย์สุมนา ช่อไสว (โรงพยาบาลวชิรพยาบาล)
อาจารย์เกวลี อุณจักร (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อาจารย์ไพรัช ไชยะกุล (วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า)
ในระยะต่อมา การดูแลเด็กที่มีปัญหาต่อมไร้ท่อเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้น มีการทำงานร่วมกับสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย และเริ่มมีแพทย์สนใจวิชาต่อมไร้ท่อเด็กมากขึ้น ได้มีการส่งกุมารแพทย์ไปฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศหลายท่าน ซึ่งเมื่อท่านจบการฝึกอบรมแล้ว ได้ไปปฏิบัติงานในคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ได้แก่
อาจารย์นฤมล ภัทรกิจวานิช (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
อาจารย์อวยพร ปะนะมณฑา (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
อาจารย์สุภาวดี ลิขิตมาศกุล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
อาจารย์พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
อาจารย์ขวัญใจ ธนกิจจารุ (วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า)
อาจารย์สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
อาจารย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เนื่องจากมีอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์มากขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศ มีผู้ป่วยต่อมไร้ท่อเด็กมากขึ้น วิทยาการทันสมัยขึ้น มีความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทางคณาจารย์จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าน่าจะมีการจัดประชุมวิชาการร่วมกันเป็นประจำ หมุนเวียนกันในสถาบันต่างๆ โดยครั้งแรกได้มีการจัดขึ้น ณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหลังการประชุมครั้งนั้นก็ได้มีการริเริ่มความคิดที่จะจัดตั้งชมรมต่อมไร้ท่อเด็กแห่งประเทศไทยขึ้น
ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดยมีศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา เป็นประธานชมรมฯ คนแรก เมื่อเริ่มก่อตั้งมีสมาชิกกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่ออยู่เพียงไม่กี่คน แต่มีการร่วมมือร่วมใจทำงานกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาหารือในการดูแลผู้ป่วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการจัดหายาบางชนิดที่หายากในประเทศไทยเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ทางชมรมฯ ยังจัดให้มีการประชุมวิชาการ (interhospital conference) ทุก 3 เดือน โดยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ และจัดให้มีการประชุมวิชาการสัญจรไปตามต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว


ในปี พ.ศ. 2543 ชมรมฯ ได้มีการจัดอบรมระยะสั้น pediatric endocrinology สำหรับกุมารแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งจัดทำ newsletter ของชมรมฯ เพื่อเป็นสื่อสำหรับกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ กุมารแพทย์ทั่วไป แพทย์ทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจความรู้ด้านต่อมไร้ท่อเด็ก ได้ทบทวนความรู้ใหม่ๆ และรายงานผู้ป่วยที่น่าสนใจ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการจัดอบรมระยะสั้นและมี newsletter มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชมรมฯ ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดกุมารเวชศาสตร์ต่อมไร้ท่อ ทำให้มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อมากขึ้นเรื่อยๆ มีการอบรมระยะสั้น fellow conference ซึ่งเป็นกิจกรรมวิชาการที่เพิ่มพูนความรู้ให้แก่แพทย์ประจำบ้านต่อยอด มีการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคต่อมไร้ท่อ รวมทั้งกิจกรรมให้ความรู้สำหรับแพทย์และประชาชนเรื่อยมา ชมรมฯ มีพัฒนาการตามลำดับ มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น มีอาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรมต่อจากอาจารย์รุ่นบุกเบิกอีกหลายท่านจากโรงเรียนแพทย์ทุกสถาบัน
จนต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้จัดตั้งสมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจในวิชากุมารเวชศาสตร์ต่อมไร้ท่อเข้าเป็นกลุ่ม เพื่อความสามัคคี สัมพันธภาพ และความเข้าใจอันดี และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และปรึกษากันในด้านวิชาการ และปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมระหว่างสมาชิก โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา เป็นนายกสมาคมฯ ในวาระแรกจนถึงปัจจุบัน และมีเครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปเด็ก 3 คนกระโดด และมีข้อความ THAI SOCIETY for PEDIATRIC ENDOCRINOLOGY อยู่ใต้รูปเด็ก มีความหมายว่า เด็กเติบโตขึ้นอย่างสมวัยและมีความสุข จนถึงปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้นกว่า 200 คน